ประวัติความเป็นมาของสถาบันการพลศึกษา

    สถาบันการพลศึกษา มีกำเนิดจากการที่กรมพลศึกษาที่ได้ดำเนินการผลิตครูพลศึกษามาเป็นเวลานาน โดยมีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นเป็นแห่งแรก ที่โรงเรียนเลี้ยงเด็กและตึกปั้นหยา ถนนบำรุงเมือง เรียกว่า “โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์” เป็นโรงเรียนหลวงสังกัดกรมศึกษาธิการ ประเภทโรงเรียนสอนวิชาพิเศษ ดำรงอยู่ได้ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน นักเรียนทุกคนได้รับทุนเล่าเรียนจากรัฐบาล และทำสัญญากับกรมศึกษาธิการเพื่อเป็นข้อผูกมัดไว้ว่า เมื่อเรียนสำเร็จแล้วจะต้องเข้ารับราชการครู และนอกจากจะต้อง เซ็นสัญญากับกรมศึกษาธิการแล้ว ยังจำเป็นต้องมีผู้รับรองความประพฤติไว้เป็นหลักฐานด้วย โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญในช่วงระยะเวลาที่ประเทศมีความต้องการพัฒนาการศึกษาในเวลานั้น และในปี พ.ศ. 2441 ได้มีประกาศใช้หลักสูตรตามโครงการการศึกษาของไทยฉบับแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลักสูตรกำหนดให้ผู้เรียนต้องเรียนวิชาพลศึกษา (ในสมัยนั้นเรียกว่า “วิชากายกรรม” หรือ “วิชาดัดตน” หรือ “วิชาการฝึกหัดร่างกาย” หรือ “วิชากายบริหาร”) ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดมีความรู้ที่จะสามารถสอนวิชาพลศึกษาในหลักสูตรนี้ได้ ดังนั้น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ จึงได้แต่งตำรากายกรรมขึ้นมา ซึ่งนับว่า เป็นตำราพลศึกษาเล่มแรกของไทย เพื่อช่วยให้ครูสามารถนำไปเรียนด้วยตนเองแล้วนำมาสอนนักเรียน

    วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2447 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการฝึกหัดครูพลศึกษาของไทยที่มีชื่อเรียกว่า “สามัคยาจารย์สมาคม” โดยได้จัดตั้ง “สามัคยาจารย์สโมสรสถาน” ขึ้นบริเวณสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ.2448 โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ได้มีการบรรจุวิชากายบริหารไว้ในหลักสูตร เพื่อให้ครูที่สำเร็จจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สามารถสอนวิชาพลศึกษาได้

    ในปี พ.ศ. 2452 ได้มีการจัดตั้งสถานศึกษาวิชาพลศึกษาสำหรับครู ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในสามัคยาจารย์สโมสรสถาน เรียกว่า “สโมสรกายบริหาร” ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 จึงได้ปรับปรุงสโมสร กายบริหารขึ้นมาเป็น “ห้องพลศึกษากลาง” เพื่อทำหน้าที่ผลิตครูไปดำเนินการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา และต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2459 จึงได้มีประกาศยกระดับห้องพลศึกษากลางที่มีอยู่เดิมเป็น “โรงเรียนพลศึกษากลาง” ในปี พ.ศ. 2466 กระทรวงศึกษาธิการ (เดิมกระทรวงธรรมการ) ได้แก้ไขระเบียบการฝึกหัดครู โดยกำหนดชั้นครูมูลพลศึกษา ให้เรียกว่า “ผู้สอนพลศึกษาชั้นตรี” (พ.ต.) ครูประถมพลศึกษา ให้เรียกว่า “ผู้สอนพลศึกษาชั้นโท” (พ.ท.) และครูมัธยมพลศึกษา ให้เรียกว่า “ผู้สอนพลศึกษาชั้นเอก” (พ.อ.)

    วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 จึงได้จัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้น โดยมีอำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพลู (วงษ์ บุญ-หลง) รักษาการในตำแหน่งอธิบดีในระยะเริ่มแรก และในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ได้แต่งตั้ง นาวาโทหลวงศุภชลาศัย ร.น. (บุง ศุภชลาศัย) มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาเป็นคนแรก และ ได้ย้ายโรงเรียนพลศึกษากลางมาสังกัดกรมพลศึกษา และในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2478 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ และอาคารพลศึกษากลาง เพื่อใช้เป็นที่ทำการของกรมพลศึกษาในปี พ.ศ.2480 การก่อสร้างได้เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2481 กรมพลศึกษา จึงได้ย้ายที่ทำการกรมจากกระทรวงธรรมการมาที่ทำการใหม่บริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย)

    พ.ศ. ๒๔๙๓ โรงเรียนพลศึกษากลาง ที่มีแต่เดิมนั้นได้เปลี่ยนเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา” จัดการเรียนการสอนแบบเต็มเวลา โดยรับนักเรียนชายที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ (หลักสูตรที่ใช้สมัยนั้น) เป็นนักเรียนประจำตลอดระยะเวลาเรียนตามหลักสูตร ๕ ปี โดยมีข้อกำหนดและระเบียบตาม หลักสูตรใหม่นี้ว่า
ผู้ที่สอบวิชาต่าง ๆ ผ่านได้ตามหลักสูตรชั้นปีที่ ๑ จะได้รับประกาศนียบัตรผู้สอนพลศึกษาตรี (พ.ต.)
ผู้ที่สอบวิชาต่าง ๆ ผ่านได้ตามหลักสูตรชั้นปีที่ ๓ จะได้รับประกาศนียบัตรผู้สอนพลศึกษาโท (พ.ท.)
ผู้ที่สอบวิชาต่าง ๆ ผ่านได้ตามหลักสูตรชั้นปีที่ ๕ จะได้รับประกาศนียบัตรผู้สอนพลศึกษาเอก (พ.อ.)

   ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ขยายโครงการด้านการฝึกหัดครู โดยตั้งเป็นกรม
การฝึกหัดครูขึ้นมา เพื่อรวบรวมการฝึกหัดครูในสังกัดต่าง ๆ มาไว้ด้วยกัน โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาจึง โอนไปสังกัดแผนกฝึกหัดครูพลานามัย กองโรงเรียนฝึกหัดครู จากนั้นอีกหนึ่งปีกรมพลศึกษาจึงได้จัดตั้ง “วิทยาลัยพลศึกษา” แทนโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา โดยจัดหลักสูตรการเรียน 4 ปี และ 2 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง(พลศึกษา) หรือ ป.กศ.สูง (พลศึกษา) และให้อยู่ภายใต้การดูแลและการดำเนินการของกรมพลศึกษาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๘ โดยมีนายแพทย์ บุญสม มาร์ติน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรก

   ปี พ.ศ. 2501 กรมการฝึกหัดครูจึงได้ตั้งสถานศึกษาขึ้นมาใหม่ เรียกว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย” ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งเพื่อดำเนินการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (พลานามัย) หรือ ป.กศ. (พลานามัย) ทั้งนี้เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนไปเป็นครูในระดับประถมศึกษา

   ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 จึงได้ยุบเลิกโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย และได้ขยายหลักสูตรของวิทยาลัยพลศึกษาเป็นระดับปริญญาตรี โดยเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยวิชาการศึกษา แต่ยังคงดำเนินการโดย กรมพลศึกษา และใช้ชื่อว่า วิทยาลัยวิชาการศึกษา (วศ.พลศึกษา) ซึ่ง ในปี พ.ศ. 2514 ได้ยุติการดำเนินการวิทยาลัยพลศึกษาในส่วนกลางและได้โอนวิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษาไปให้วิทยาลัยวิชาการศึกษาดำเนินการต่อไป

   ในปี พ.ศ. 2514 กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายขยายการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (พลศึกษา) ไปยังส่วนภูมิภาค กรมพลศึกษาจึงได้เปิดดำเนินการผลิตครูพลศึกษา ในส่วนภูมิภาคโดยเริ่มเปิด “วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่” ขึ้นเป็นแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ได้เปิด “วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคาม” เป็นแห่งที่สอง และมีการเปิดเพิ่มขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งมีวิทยาลัยพลศึกษารวม 17 แห่ง และในปี พ.ศ. 2534 ได้เปิดโรงเรียนกีฬาแห่งแรก ของประเทศ โดยเริ่มเปิดที่ “โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี” และปัจจุบันมีโรงเรียนกีฬาในสังกัดรวม 11 โรง

   เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายบรรจุข้าราชการครู จากผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นอย่างต่ำ ทำให้กรมพลศึกษาเริ่มหาแนวทางยกฐานะวิทยาลัยพลศึกษาให้สามารถเปิดทำการสอน ในระดับปริญญาตรี โดยในระยะแรกได้จัดทำโครงการร่วมมือทางวิชาการกับกรมการฝึกหัดครู ให้วิทยาลัยครูรับวิทยาลัยพลศึกษาเข้าสมทบทางวิชาการเพื่อเปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2531 ในขณะเดียวกันก็พยายามหาแนวทางที่จะเปิดดำเนินการสอนระดับปริญญาตรีด้วยตนเอง

   พ.ศ. 2545 ได้มีพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งให้มีการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และให้โอนกรมพลศึกษามาสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยเปลี่ยนชื่อจากกรมพลศึกษา เป็น “สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ” ทำให้วิทยาลัยพลศึกษา 17 แห่ง และโรงเรียนกีฬา 11 โรง ย้ายมาสังกัดสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬาด้วย

   31 มกราคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษาและออกประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้สถาบันการพลศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ถึงระดับปริญญาตรี

   จากการใช้พระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. 2548 มาระยะหนึ่งแล้วนั้น ทางสภาสถาบันการพลศึกษาได้เล็งเห็นว่าในบางมาตรายังไม่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและกีฬาของสถาบัน การพลศึกษา เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งในระดับนานาชาติ สถาบันจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการแก้ไข

   21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 และออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญ เช่น ให้สถาบันการพลศึกษาสามารถจัดการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้
 
ตราประจำสถาบันการพลศึกษา

   ตราสถาบันการพลศึกษา เป็นรูปพระพลบดีทรงช้างเอราวัณอยู่เหนือก้อนเมฆซ้อนทับอยู่บนเครื่องหมายสามห่วง (เขียว ขาว เหลือง) บรรจุอยู่ในวงรี พื้นสีน้ำเงินขอบนอกเป็นสีเหลืองทอง มีชื่อสถาบันการพลศึกษาภาษาไทยอยู่ส่วนบน และชื่อภาษาอังกฤษอยู่ที่ส่วนล่างของขอบสีเหลืองทอง และ มีลายประจำยามอยู่ทั้งสองด้านระหว่างชื่อภาษาไทยกับชื่อภาษาอังกฤษ อักษรชื่อภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และลายประจำยามเป็นสีเขียวขอบนอกของตราเป็นสีน้ำเงินขนาดเล็ก
 
สีประจำสถาบันการพลศึกษา

   กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ตามคำสั่ง ที่ 908/2๕๕๗ ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2๕๕7 ต่อมาสถาบันการ พลศึกษา แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมเปลี่ยนสถานะสถาบันการพลศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ตามคำสั่ง ที่ 10/2๕๕8 ลงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2๕๕๘

   19 พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย การกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ และออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป โดยเป็นการยกฐานะสถาบันการพลศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เพื่อจัดการศึกษาและการวิจัยด้านการกีฬา การพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา การบริหารจัดการกีฬา การประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมการกีฬา รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีการพัฒนากีฬาภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อประโยชน์ใน การสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาของประเทศ

   ตรามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ คือ ภาพพระพลบดีทรงช้างเอราวัณอยู่เหนือกลีบเมฆ หัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ หัตถ์ขวาทรงตรี ตอนล่างเป็นข้อความภาษาไทยระบุชื่อ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
 

 
สีประจำมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ